แนวคิดและแนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์

        

ความหมายของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์

  ความหมายของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์

  การจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดวิทยาศาสตร์

  หน้าหลักสืบค้น

 

            มีผู้ให้ความหมายของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ไว้หลายความหมาย ดังนี้
            การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ประกอบด้วยส่วนสำคัญสองส่วนคือ ความรู้ (knowledge) และกระบวนการ (process)  ดังนั้นการจัดการเรียนรู้  ควรจัดเพื่อพัฒนาส่วนสำคัญทั้ง  2 ส่วนให้ครบถ้วน  ซึ่งมีแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวกับการเรียนการสอนหลายแนวคิดสนับสนุน  ได้แก่

  1. ทฤษฎีเกสตัลท์(Gestalt theory) 
  2. ทฤษฎีเครื่องหมาย (Sign theory) 
  3. ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญา (Intellectual  development  theory) 
  4. ทฤษฎีการเรียนรู้อย่างมีความหมาย (A Theory  of  meaningful  verbal  learning) 
  5. ทฤษฎีกระบวนการทางสมองในการประมวลข้อมูล (Information  processing  theory) 
  6. ทฤษฎีพหุปัญญา (Multiple  intelligences  theory) 
  7. ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเอง (Constructivism) 
  8. ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเองโดยการสร้างสรรค์ชิ้นงาน (Constructionism)

           

            สุมน  อมรวิวัฒน์ (2543, หน้า 37) กล่าวว่า  เทคนิควิธีการจัดการเรียนรู้ รูปแบบการสอน หรือกระบวนการเรียนการสอนในหลากหลายวิธี  ซึ่งจำแนกได้ดังนี้

           1. การจัดการเรียนการสอนทางอ้อม ได้แก่ การเรียนรู้แบบสืบค้น  แบบค้นพบแบบแก้ปัญหา  แบบสร้างผังความคิด  แบบใช้กรณีศึกษา  แบบตั้งคำถาม  แบบใช้การตัดสินใจ

           2.  เทคนิคการศึกษาเป็นรายบุคคล  ได้แก่  วิธีการเรียนแบบศูนย์การเรียน  แบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง  แบบชุดกิจกรรมการเรียนรู้  คอมพิวเตอร์ช่วยสอน

           3.  เทคนิคการจัดการเรียนรู้ โดยใช้เทคโนโลยีต่างๆ ประกอบการเรียน  เช่น  การใช้สิ่งพิมพ์  ตำราเรียน  และแบบฝึกหัด  การใช้แหล่งทรัพยากรในชุมชน  ศูนย์การเรียน  ชุดการสอน  คอมพิวเตอร์ช่วยสอน  บทเรียนสำเร็จรูป

          4.  เทคนิคการจัดการเรียนการสอนแบบเน้นปฏิสัมพันธ์  ประกอบด้วย  การโต้วาทีกลุ่ม Buzz  การอภิปราย  การระดมพลังสมอง  กลุ่มติว  การประชุมต่างๆ  การแสดงบทบาทสมมติ  กลุ่มสืบค้น  คู่คิด  การฝึกปฏิบัติ เป็นต้น

          5.  เทคนิคการจัดการเรียนการสอนแบบเน้นประสบการณ์  เช่นการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม  เกม  กรณีตัวอย่าง  สถานการณ์จำลอง  บทบาทสมมติ

          6.  เทคนิคการเรียนแบบร่วมมือ  ได้แก่  ปริศนาความคิด  ร่วมมือแข่งขัน  หรือกลุ่มสืบค้น  กลุ่มเรียนรู้ร่วมกัน  ร่วมกันคิด  กลุ่มร่วมมือ

          7.  เทคนิคการเรียนการสอนแบบบูรณาการ  ได้แก่การเรียนการสอนแบบใช้เส้นเล่าเรื่อง (story  line)  และการเรียนการสอนแบบแก้ปัญหา (problem-solving)

 

          สุมิตร  คุณานุกร (2543, หน้า 23) กล่าวว่า การจัดการเรียนการสอนเป็นกระบวนการจัดประสบการณ์ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยวิธีการต่างๆ  เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาไปตามเป้าหมายที่หลักสูตรต้องการ  ดังนั้น สภาพแวดล้อมด้านการเรียนการสอนจึงเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์  บรรยากาศในการเรียนการสอน  เพื่อให้ผู้เรียนได้ประสบการณ์ที่มีคุณภาพและสามารถนำความรู้ไปปฏิบัติ  เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้  การจัดหลักสูตรและการสอนของอาจารย์  การนำสื่อการเรียนการสอนมาใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม  รวมทั้งสัมพันธภาพระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน  องค์ประกอบเหล่านี้มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด  การจัดการเรียนการสอนหรือการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนในวิชาทางทฤษฎี  ปฏิบัติ และประลองนั้น  ทำได้หลายรูแบบและหลายวิธีการ  แต่ในสาระสำคัญแล้ว  อาจจะจำแนกการจัดการเรียนการสอน  หรือการจัดประสบการณ์เรียนรู้ออกได้เป็น  3 ลักษณะ คือ

  1. โดยครูผู้สอนเป็นผู้ให้เนื้อหา
  2. โดยครูและผู้เรียนเป็นผู้คิดค้นเนื้อหาวิชาด้วยกัน
  3. โดยการศึกษาเนื้อหาการทำงานด้วยตัวผู้เรียนเอง  จากสื่อที่ครูผู้สอนได้จัดเตรียมเอาไว้  ทั้งนี้ การที่จะเลือกลักษณะรูปแบบ วิธีการจัดการเรียนการสอน หรือการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบไหนนั้น ก็พิจารณาได้จาก
    1. ระดับวัตถุประสงค์การสอนที่ต้องการ
    2. ระดับพื้นฐานและความรับผิดชอบของผู้เรียน
    3. ความยุ่งยากซับซ้อนของการเรียน การฝึก และภัยอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นในการเรียนการฝึกดังกล่าวด้วย
            สรุปได้ว่า  การจัดการเรียนการสอนหมายถึงการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้เหมาะสมตามศักยภาพของผู้เรียน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้  และบรรลุตามจุดมุ่งหมายของหลักสูต

 

 

อ้างอิงจาก

สุมน  อมรวิวัฒน์. (2543).  ปฏิรูปการเรียนรู้ผู้เรียนสำคัญที่สุด.
กรุงเทพมหานคร : สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้.

สุมิตร  คุณานุกร. (2543).  หลักสูตรและการสอน.  กรุงเทพฯ  :  คณะครุศาสตร์ 
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.